TH | EN
ประวัติองค์กร 
วิสัยทัศน์และภารกิจ 
โครงสร้างองค์กร 
คณะกรรมการ 
คณะผู้บริหาร 
คณะที่ปรึกษา 
แรงงานสัมพันธ์และกฎหมาย 
ฝึกอบรมและพัฒนา 
วิจัย 
ที่ปรึกษางานทรัพยากรมนุษย์ 
เอกสารวิชาการ 
เครือข่ายในประเทศ  
เครือข่ายต่างประเทศ  
สำหรับบุคคลทั่วไป 
 
 
 
ภูมิหลังของศาสตราจารย์ ดร. จำเนียร จวงตระกูล

เกิดในครอบครัวชาวนาที่อยู่ในชนบทยากจนซึ่งในสมัยก่อนเป็นถิ่นทุรกันดาร เริ่มเรียนหนังสือที่บ้าน โดยการสอนของบิดามารดา เนื่องจากบ้านเกิดเป็นชนบทอยู่ห่างไกลความเจริญ คนในสมัยนั้นมีผู้ที่รู้หนังสือหรืออ่านออกเขียนได้จำนวนน้อย แต่โชคดีที่ทั้งบิดามารดาเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาเบื้องต้น และได้ศึกษาเพิ่มเติมจนแตกฉาน สามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี
และเป็นที่พึ่งของชาวบ้านทั่วไป มารดาเคยทำหน้าที่เป็นครูสอนโรงเรียนผู้ใหญ่ในหมู่บ้านด้วยจึงเริ่มอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ยังเด็ก

          เมื่อถึงวัยเข้าเรียนจึงได้เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมในโรงเรียนวัดที่บ้านจนจบ ป.4 แล้วต้องเดินทางวันละ 8 กิโลเมตรเพื่อไปเรียนชั้น ม.1-3 ที่อำเภอปักธงชัย จากนั้นจึงต้องเข้าไปเรียนชั้น ม.4 และม.5 ในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา แล้วต้องกลับมาเรียนชั้น ม.6 ที่อำเภอปักธงชัย ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่เปิดใหม่และเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนที่สอบไล่ได้ชั้น ม.6 และสอบได้ที่ 1 ด้วย จากนั้นก็ไม่ได้เรียนหนังสืออีกเลย


ในขณะเดียวกันทางด้านการงานก็มีความเจริญก้าวหน้าในด้านการงานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการโรงงาน กรรมการผู้จัดการ และประธานบริษัท ถ้าจะมองทางด้านการศึกษาส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการไขว่คว้าดิ้นรนศึกษาด้วยตนเอง ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงปริญญาเอก ในขณะเดียวกันถ้าจะมองในด้านการงานแล้วก็เริ่มต้นจากการเป็นชาวนา แล้วกลายมาเป็นกรรมกร มาเป็นผู้บริหาร และมาเป็นผู้ประกอบการในช่วงท้ายของชีวิตการทำงาน จากประสบการณ์ทำงานจากตำแหน่งต่ำสุดไต่ขึ้นไปถึงตำแหน่งสูงสุดในองค์การทำให้ดร.จำเนียรมีความเข้าใจ ในเรื่องของการบริหารองค์การเป็นอย่างดีเพราะถ้าหากสวมหมวกเป็น CEO ของบริษัทก็จะเข้าใจว่าลูกจ้างหรือคนงานคิดอย่างไรมีความต้องการอย่างไร ในขณะเดียวกันถ้าไปสวมหมวกเป็นคนงานหรือกรรมการสหภาพแรงงานก็จะมีความเข้าใจดีว่าผู้บริหารหรือ CEO คิดอย่างไรมีความต้องการอย่างไร

ในชีวิตการทำงานอย่างเป็นทางการประมาณ 40 กว่าปีนั้น ประมาณ 19 ปี ดร.จำเนียร ทำงานอยู่ในสายงานทรัพยากรมนุษย์ โดยได้มีโอกาสฝึกงานและหมุนเวียนงานไปทำงานด้านต่างๆของสายงานนี้อย่างครบถ้วนทุกด้าน ตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกหัดเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเป็นหัวหน้าแผนกเป็นผู้จัดการเป็นผู้อำนวยการ และเป็นกรรมการบริหารบริษัทที่รับผิดชอบดูแลงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ จึงทำให้ได้มีโอกาสทำงานด้านนี้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง

          นอกจากนี้ ดร.จำเนียร จวงตระกูลยังได้ใช้เวลาบางส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดและเวลานอกงานภาคค่ำ ไปทำหน้าที่เป็นวิทยากรฝึกอบรม ในหลักสูตรต่างๆให้แก่สถาบันทางการบริหารที่สำคัญของประเทศไทย เช่น สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย สมาคมการจัดกรธุรกิจแห่งประเทศไทย สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝึกอบรมซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนทั้งในระดับปริญญา ตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาทางด้านทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมทำงานวิจัยในโครงการวิจัยต่างๆ ทั้งด้านกฎหมายด้านแรงงานและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และในภายหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษา ทางด้านทรัพยากรมนุษย์จึงถือได้ว่ามีประสบการณ์ครบทุกมิติของงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ ดร. จำเนียร ยังได้อุทิศตนให้กับทางราชการโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการต่างในภาคราชการหลายคณะ รวมทั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย

ด้านครอบครัว

ดร. จำเนียร จวงตระกูล
มีคู่สมรสคือนางนงนุช จวงตระกูล

มีบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 2 คนตามลำดับดังต่อไปนี้
1. นายจวงเดช จวงตระกูล (ตุ้ง)
2. นางสาวจวงจันทร์ จวงตระกูล (เต๋)
3. นายจำนงรักษ์ จวงตระกูล (ต้น)
4. เด็กหญิงจำนงจิต จวงตระกูล (เติม)



ด้านการทำงาน
ดร. จำเนียร จวงตระกูล ถือหลักการทำงานตามแนวทางของพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่อง สัปปุริสธรรม ๗, พรหมวิหาร ๔, อิทธิบาท ๔ ผู้สนใจรายละเอียดศึกษาได้จากหนังสือลักษณะของลูกจ้างที่นายจ้างต้องการ (จำเนียร จวงตระกูล, 2542), การบริหารงานคือการบริหารคน (จำเนียร จวงตระกูล, 2542) และ HR มือโปร: 40 ปีสู่มืออาชีพ (จำเนียร จวงตระกูล, 2549) อย่างไรก็ตามในที่นี้จะขอนำเสนอปรัชญาในการทำงาน หลัก 5 ประการใหญ่ 25 ประการย่อย ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง หลักการจัดการตน หมายถึง การจัดการตัวเราเอง ให้สามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสมตามอัตภาพทั้งในการทำงานและในสังคม ผมเน้นคำว่า อัตภาพ เพราะมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนไม่เหมือนกันและไม่เท่าเทียมกัน มาตรฐานของผมเป็นเพียงแนวทางของผมซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบกับผู้อื่นได้ ผมเห็นว่า การจัดการตนหรือการจัดการตัวเราเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เราจะต้องรู้จักตนเอง เราจะต้องควบคุมตนเองให้ได้ จัดการตัวเราเองให้ได้ ผมคิดว่าถ้าหากเราไม่จัดการตัวเราเองแล้ว คอยให้คนอื่นมาจัดการให้นั้น คงจะยากและผมคงไม่ยอมเด็ดขาดที่จะให้คนอื่นมาบงการชีวิตของผม ในการจัดการตนนั้น ผมยึดถือหลักการสำคัญห้าอย่างดังต่อไปนี้

อย่างที่หนึ่ง ผมถือว่า “ชีวิตนี้จะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวเราเอง” จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ อันดับแรก เราจะต้องตั้งหลักให้ได้เสียก่อนว่าเราต้องการอะไร เราต้องมีเป้าหมายชีวิตที่แน่ชัดว่าเราจะเดินไปทางไหน ต้องวางแผนชีวิต และวางแผนอาชีพแล้วดำเนินการต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติมีคุณวุฒิ มีคุณภาพที่สูงขึ้น ดำรงตนให้เหมาะสมอยู่ในกรอบกติกาแห่งความดีงามของสังคม ช่วยเหลือสังคม จุนเจือสังคม ช่วยสร้างสังคมแห่งความดีงาม ช่วยให้สังคมไทยให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น กล่าวให้ชัดก็คือเราต้องจัดการตัวเราเองไม่พึงปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม หรือให้ผู้อื่นมาจัดการชีวิตของเรา
           
อย่างที่สอง ผมถือว่า “แม้จะยากจนก็ให้จนอย่างมีศักดิ์ศรี” ผมคิดว่าศักดิ์ศรีของคนเรานั้นอยู่ที่การทำงานเกียรติยศของคนอยู่ที่ผลของการทำงาน ความมั่งมีศรีสุข หรือมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ในความคิดของผมนั้นมันมิได้บอกถึงศักดิ์ศรีของคน ทรัพย์สินเงินทองอันมากมายนั้นได้มาอย่างไร ได้มาด้วยการทำงานที่สุจริตโปร่งใส หรือได้มาจากการฉ้อฉล หรือปล้นสะดมเขามาทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือไม่ ผมพอใจที่จะอยู่อย่างยากจน แต่มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีมากกว่าที่จะมั่งมีทรัพย์สินเงินทองจากการคดโกง ฉ้อฉลไร้ศีลธรรม ผมยินดีที่จะเป็นกรรมกรมากกว่าเป็นโจรเสื้อนอก ซึ่งมีอยู่ถมถืดในเมืองไทย
          
อย่างที่สาม ผมถือว่า “เพื่อนกินหาง่ายเพื่อนตายหายาก” ผมคิดว่าการคบเพื่อนนั้นสำคัญมาก เราต้องมีเพื่อน เราต้องคบกับคนได้ทุกหมู่เหล่า แต่เราจะต้องแยกแยะว่า เพื่อนกลุ่มไหนเป็นอย่างไร แค่ไหน เราจะต้องจัดระดับและรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมจึงจะเกิดผลดี คนเราต้องการเพื่อนครับ เราต้องมีเพื่อน แต่การคบเพื่อนต้องคบให้เป็น หลักสำคัญของผมอย่างหนึ่งในการคบเพื่อนก็คือถือภาษิตที่กล่าวข้างต้นคือ เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก และอีกอย่างหนึ่งก็คือ คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล คติโบราณต่างๆ ยังใช้ได้ดีเสมอครับ สำหรับผม
          
อย่างที่สี่ ผมถือว่า “เกิดเป็นคนแล้วโง่ไม่เป็นเป็นใหญ่ยาก” ตั้งแต่ผมเกิดมาผมยังไม่เคยพบใครเลยที่ฉลาดและเก่งที่สุดในโลก ผมคิดว่าคนเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ผมถือว่าผมเป็นคนโง่เสมอ ผมจึงเสาะแสวงหาความรู้ใส่ตัวผมอยู่เสมอ ผมไม่เคยละอายเลยที่ผมโง่ ผมสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเพื่อนร่วมงาน จากประสบการณ์ของผมนั้น การที่เราจะสามารถเรียนรู้ได้ดีนั้น เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดี คือเราจะต้องโง่ เราจะต้องฟัง จะต้องสนใจใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ ถ้าเราแสดงตนเป็นคนอวดฉลาดแล้วเราคงจะไม่ได้อะไรใหม่ๆ เพิ่มพูนมากขึ้นเป็นแน่
          
อย่างที่ห้า ผมถือว่า “ทุกคนทุกชีวิตมีภารกิจทางการเมือง” การเมืองเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทุกคน เพราะจริงๆ แล้วการเมืองคือชีวิต การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นความตายของประชาชนทุกคน การเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน เราทุกคนจึงต้องมีภารกิจทางการเมือง เราต้องทำการเมืองให้เป็นการเมืองตามที่เราต้องการ ผมไม่เห็นด้วยที่จะเล่นการเมือง แต่ผมเห็นว่าเราจะต้องปฏิบัติภารกิจทางการเมือง เพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา เราจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเสมอ การเมืองจะเกี่ยวข้องกับตัวเราตลอดเวลา เราจึงหนีการเมืองไม่พ้น

ประการที่สอง หลักการจัดการคน หมายถึง การจัดการคนทำงานให้เราหรือช่วยเราทำงานให้บังเกิดผลสำเร็จ การจัดการคนเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผม และผมเห็นว่าการจัดการงานก็คือการจัดการคน เพราะในเวลาเราจัดการงานนั้นแท้จริงแล้ว เราจัดการคนอื่นให้ทำงานให้เรา ในการจัดการคนนั้น ผมยึดหลักสำคัญห้าอย่างดังต่อไปนี้

อย่างที่หนึ่ง ผมถือว่า “รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ผมถือว่าถ้าเราจะจัดการให้เขาทำงานให้เราได้ดีนั้น เราจะต้องรู้จักเขาให้ดี ผมจึงศึกษาลูกน้องของผมทุกคนอย่างทะลุปรุโปร่ง ผมศึกษาหัวหน้าของผม เพื่อนร่วมงานของผม ลูกค้าและบุคคลอื่นๆ ที่ผมจะติดต่อด้วยเสมอ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อในการทำงานหรือสังคม จากประสบการณ์ของผมนั้น เราจะทำงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ถูกต้องมากขึ้น ถ้าหากเราได้ศึกษาคนที่เราจะติดต่อหรือ “Deal” ด้วย ในการบริหารคน เรื่องนี้สำคัญมากทุกขั้นตอนเลยทีเดียว
          
อย่างที่สอง ผมถือว่า “ทุกคนมีชีวิตและความคิดเป็นของตนเอง” ผมถือว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง เราไม่พึงไปก้าวก่ายในชีวิตส่วนตัวของเขาผมคิดว่าทุกคนมีสมอง ผมจึงให้ทุกคนใช้สมอง ใช้ความคิดของตนเองเต็มที่หน้าที่สำคัญของผู้บริหารนั้น อยู่ที่ว่าเราสามารถดึงเอาชีวิตและความคิดของเขามาเอื้อประโยชน์ต่องานขององค์การมากน้อยเพียงใด สำหรับตัวผมนั้นผมเห็นว่า เรามีหน้าที่ดึงเอาจุดเด่นของแต่ละคนออกมาให้เขาสามารถได้ใช้ความสามารถของเขาอย่างเต็มที่ ซึ่งเขาก็พอใจ และองค์การก็จะได้ประโยชน์
          
อย่างที่สาม ผมถือว่า “ไม่มีใครในโลกนี้ที่ทำดีได้ทั้งหมด” ผมเห็นว่าทุกคนต้องการทำดีด้วยกันทั้งนั้น แต่โดยธรรมชาติแล้วสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนมาก จึงทำให้ในสังคมเรามีทั้งคนดีและคนชั่ว ผมถือว่าไม่มีคนดีที่สุดในโลก และไม่มีคนที่เลวที่สุดในโลก ส่วนใหญ่ในสังคม จึงมีดีบ้างเลวบ้าง อยู่ในตัวของแต่ละคน ดังนั้นจึงต้องให้โอกาสแก่คนได้พิสูจน์ตนเอง เราไม่ควรด่วนสรุปเรื่องคน การตัดสินใจเรื่องคนจะต้องทำอย่างรอบคอบถี่ถ้วน
          
อย่างที่สี่ ผมถือว่า “บุญคุณต้องทดแทนความแค้นต้องอภัย” ผมคิดว่าคนที่เนรคุณคนไม่ใช่คน หมามันยังรู้จักบุญคุณคน เราถือว่าหมามันเป็นสัตว์เดรัจฉานถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เราจึงต้องทำให้ดีกว่าหมา แม้ว่าผมจะไม่เคยคิดและไม่เคยเรียกร้องเอาบุญคุณจากใคร แต่ผมก็ถือปฏิบัติโดยการตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีพระคุณต่อตัวผมเสมอ ในทางกลับกันผมไม่เคยถือโทษโกรธเคืองใครที่คิดร้ายหรือทำร้ายผมทั้งต่อหน้าและลับหลัง ผมให้อภัยเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการคน เราจะต้องรู้จักให้อภัยครับ
          
อย่างที่ห้า ผมถือว่า “ความรู้ต้องเป็นวิทยาทานประสบการณ์ต้องถ่ายทอด” ผมถือเป็นหลักปฏิบัติเสมอว่าเมื่อหาความรู้ได้แล้ว ต้องให้ความรู้แก่ผู้อื่นเพื่อเป็นวิทยาทาน และในขณะเดียวกันเมื่อ มีประสบการณ์ในการทำงานแล้วก็ต้องถ่ายทอดต่อไปเสมอ ผมถือปฏิบัติเช่นนี้ต่อเนื่องมาตลอด แม้กระทั่งทุกวันนี้ ผมก็ยังคงยึดถือและปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

ประการที่สาม หลักการจัดการงาน หมายถึง การใช้เทคนิคและวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้งานบังเกิดผลสำเร็จ การจัดการงานนั้นส่วนหนึ่ง เราจัดการคนแต่อีกส่วนหนึ่ง ก็มีงานที่เราจะต้องมีหลักการและวิธีการต่างๆ เพื่อยึดถือและปฏิบัติในการจัดการงาน ในการจัดการงานนั้นผมยึดหลักการสำคัญห้าอย่างดังต่อไปนี้

อย่างที่หนึ่ง ผมถือว่า “การทำงานต้องทำทุกอย่างที่ขวางหน้า” ผมไม่เคยเลือกงาน ผมทำงานทุกอย่าง ในชีวิตผมนั้น ผมเคยทำนา เป็นกรรมกร เป็นหัวหน้างาน เป็นผู้บริหาร จนกระทั่งปัจจุบันมาทำงานเป็นผู้ประกอบการ ผมก็ยังยึดหลักการอันนี้คือ ทำทุกอย่างที่ขวางหน้า
          
อย่างที่สอง ผมถือว่า “การทำงานต้องเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย” ผม เห็นว่าคนเราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะเดี๋ยวนี้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยน ทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยน เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดเวลา จนในปัจจุบันนี้เรียนเพื่อรู้ไม่ได้แล้ว เราต้อง “เรียนเพื่อเรียน” ในชีวิตของผมนั้นผมเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งในระบบและนอกระบบ ผมมีความรู้พื้นฐานแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก ผมจึงต้องเรียนต่ออยู่เสมอ ตลอดเวลา ผมถือว่าการศึกษาคือชีวิต เราจึงต้องศึกษาเรียนรู้ตลอดไป
         
อย่างที่สาม ผมถือว่า “การทำงานต้องทำได้ทุกเวลาและสถานที่” ผมถือว่าคนเรานั้นอันที่จริงแล้วทำงานตลอดเวลา อย่างน้อยที่สุดเราก็ใช้ความคิดตลอดเวลา และความคิดส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับงานเสมอ ผมจึงถือว่าเราต้องทำงานทุกเวลาทุกสถานที่ ถ้าทำได้เช่นนี้แล้วจะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น ได้ทำงานมากขึ้น ได้ประโยชน์มากขึ้น ในชีวิตผมนั้นผมทำงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด ผมทำงานได้ทั้งนั้น
          
อย่างที่สี่ ผมถือว่า “การทำงานจะได้ผลดีต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม” ผม ถือว่าคนเราทุกคนมีความรู้ความสามารถเฉพาะตัวเป็นของตนเอง ไม่มีใครรู้ทุกอย่าง ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ถ้าเรายอมรับในข้อนี้แล้วเราเอาความรู้ความเก่งของทุกคนมารวมกันแล้วช่วยกัน ทำงาน ก็จะทำให้องค์การของเราเข้มแข็งขึ้น คนหนึ่งรู้อย่างหนึ่ง เก่งอย่างหนึ่งที่อีกหลายคนไม่รู้ไม่เก่ง เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็สามารถเสริมในส่วนที่ขาดได้ ผมจึงยึดหลักการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญในการทำงาน แม้กระทั่งทุกวันนี้
         
อย่างที่ห้า ผมถือว่า “การทำงานที่แท้จริงคือการรับใช้สังคม” ผมเห็นว่าไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็ตาม ผลสุดท้ายของงานของเรา ก็ไปสู่สังคมทั้งสิ้น ดังนั้นการทำงานจะต้องทำให้ดีที่สุด ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อมอบให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณ คุณภาพ และบริการ ต้องดีที่สุด เราจะต้องไม่ทำร้ายสังคม ซึ่งผลการทำงานของเรามีผลกระทบต่อสังคม ดังนั้นในการทำงานของเราจึงต้องคำนึงถึงสังคมเสมอ

ประการที่สี่ หลักการจัดการองค์การ หมายถึง การจัดการให้คนในองค์การผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้บังเกิดผลดีตามที่เราต้องการและคนที่ทำงานอยู่ก็พร้อมที่จะทำงาน อย่างเต็มที่ มีความสุขในการทำงานร่วมกัน มีความสงบสุขในองค์การ ในการจัดการองค์การนั้น ผมยึดถือหลักสำคัญห้าอย่าง ดังต่อไปนี้

อย่างที่หนึ่ง ผมถือว่า “ลูกค้าคือบุคคลสำคัญที่ไม่มีวันเป็นผู้ผิด” ผมยึดถือกฎ 2 ข้อ ในการทำงานคือ กฎข้อที่ 1 ลูกค้าเป็นผู้ถูกต้องเสมอ กฎข้อที่ 2 ถ้าลูกค้าผิดให้กลับไปอ่านกฎข้อที่ 1 ใหม่ทันที ผมถ่ายทอดแนวความคิดนี้ซึ่งตรงกับแนวความคิดของมหาตมะคานธี ให้แก่ลูกน้องและเพื่อนร่วมงานของผมได้รับทราบและยึดถือปฏิบัติเสมอไม่ว่าผมจะไปทำงานที่ใดก็ตาม เพราะผมถือว่าลูกค้าเป็นผู้มีพระคุณสูงสุดขององค์การ เราจึงต้องทดแทนบุญคุณลูกค้าด้วยการผลิตสินค้าที่ดี ราคาถูก และบริการลูกค้าให้ดีเลิศ
          
อย่างที่สอง ผมถือว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้าเหนือหัวหน้ายังมีเจ้าของ” ในการทำงานนั้น ทุกคนไม่สามารถเป็นเจ้านายตัวเองได้ ทุกคนจะต้องมีหัวหน้าเสมอ เพราะฉะนั้นไม่มีใครที่ใหญ่ที่สุดในองค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางธุรกิจนั้นหัวหน้างาน ผู้จัดการไล่ไปจนถึง กรรมการผู้จัดการ หรือประธาน ก็ยังต้องมีเจ้านายคือ ผู้ถือหุ้น และ ผู้ถือหุ้นยังมีคนที่ใหญ่กว่าอีกคือ ลูกค้า ดังนั้นในการทำงานเราจึงต้องรู้จักใช้อำนาจ อย่างเหมาะสมไม่ใช่บ้าอำนาจ อย่างที่หลายๆ คนเคยพบเคยเห็น และผลสุดท้ายก็ไปไม่รอด และอำนาจเปรียบเสมือนอาวุธ ถ้าใช้เป็นก็ดีไป ถ้าใช้ไม่เป็นอาจทำร้ายตนเองได้
          
อย่างที่สาม ผมถือว่า “ทุกองค์การทุกบริษัทเป็นสมบัติของประชาชน” ผมถือว่าทุกคนอยู่ในสังคม องค์การเป็นผลผลิตของสังคม องค์การตั้งขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคม ดังนั้นการทำงานทุกอย่าง ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เราทำงานในองค์การใดๆ ก็ตาม จึงต้องรับผิดชอบต่อสังคม ผู้เป็นเจ้าของผู้บริหารจะตัดสินใจจำต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมในส่วนรวมอยู่เสมอ
          
อย่างที่สี่ ผมถือว่า “จะสร้างประสิทธิผลต้องดูแลคนกับเทคโนโลยี” ผมเห็นว่าในปัจจุบันนี้ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดกลายเป็นเสาหลักขององค์การและสังคมนั้นมี 3 อย่างคือ เทคโนโลยี คนผู้ปฏิบัติงาน และคนผู้ทำหน้าที่บริหาร ดังนั้นถ้าจะให้องค์การเจริญก้าวหน้า ปรับตัวเข้ากับสังคมโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากได้ เราจะต้องดูแลคนทั้งสองกลุ่มและเทคโนโลยี ให้ไปด้วยกันได้อย่างราบรื่นและกลมกลืน ผมจึงคำนึงถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อคนและสังคมเสมอในการตัดสินใจในการทำงาน
          
อย่างที่ห้า ผมถือว่า “บริษัทจะก้าวไกลอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำและผู้ตาม” ผมเห็นว่าในองค์การนั้นเราแบ่งคนออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้สองกลุ่ม คือกลุ่มคนผู้ปฏิบัติงาน และกลุ่มคนผู้ทำหน้าที่ในการบริหารงาน คนทั้งสองกลุ่มต้องสามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดีจึงจะทำให้องค์การประสบความสำเร็จ การที่จะทำงานเป็นทีมได้ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน มีทิศทางร่วมกัน หรือมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ขาดไปในสังคมไทย ผมจึงเน้นย้ำการทำงานเป็นทีม โดยนำเอาพลังเด่นของทุกคนมารวมกัน มาผสมผสานกันในการทำงานเสมอ

ประการที่ห้า หลักการจัดการสภาพแวดล้อม หมายถึง การจัดการสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีอยู่ที่เป็นไป ที่เกิดขึ้น ที่เปลี่ยนแปลงไปรอบๆ ตัวเรา คน งานและองค์การ ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว ผมเห็นว่ามีอำนาจหรือศักยภาพในการจัดการ สิ่งแวดล้อมค่อนข้างจำกัด เพราะส่วนใหญ่มักจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมสำคัญมากเราจึงจำเป็นต้องหาวิธีการจัดการที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ผมยึดหลักการสำคัญห้าอย่าง ดังต่อไปนี้


อย่างที่หนึ่ง ผมถือว่า “กฎหมายที่ล้าหลังธุรกิจก็พังได้” ผมคิดว่าเราไม่สามารถใช้กฎหมายนำหน้าได้เสมอไป ผมเห็นว่าเราจะต้องใช้กฎหมายเป็นกรอบเป็นกติกาแต่เราจะต้องมีหลักการที่เป็นที่ยอมรับของสังคม แน่นอนเราต้องไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ถ้ากฎหมายผิด เพราะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่ล้าหลังมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายธุรกิจ เราจึงต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้ทันต่อเหตุการณ์และสร้างหลักเกณฑ์หรือวัฒนธรรม และจริยธรรม จรรยาบรรณ ในทางปฏิบัติมาอุดช่องว่างของกฎหมาย มิใช่ใช้ช่องว่างนั้นหาประโยชน์โดยมิชอบ
          
อย่างที่สอง ผมถือว่า “คุณค่าของคนอยู่ที่ผลการตอบแทน” ผมเห็นว่า “You get what you pay” เราจึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบค่าตอบแทนให้เหมาะสม ปัญหาของประเทศไทยที่สำคัญคือ ปัญหาคุณภาพของคนไม่เหมาะสมกับระดับค่าจ้าง เราจำเป็นต้องปรับระบบการบริหารค่าตอบแทนควบคู่ไปกับระบบการบริหารคนและการพัฒนาคนโดยด่วนเรา จึงจะสามารถดำรงตนในหมู่บ้านโลกแห่งนี้ได้
          
อย่างที่สาม ผมถือว่า “คนจะทำงานได้ดีเมื่อมีความมั่นคงและปลอดภัย” ผมเห็นว่าในปัจจุบันคนบาดเจ็บล้มตายมากเหลือเกิน เราจำเป็นต้องหาทางป้องกันมิให้มันเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดส่วนใหญ่คือคอยให้คนบาดเจ็บล้มตายแล้วค่อยเอาเงินไปให้ลูกเมียเขา ทายาทเขา แทนที่เราจะหาทางป้องกันมิให้คนบาดเจ็บล้มตาย ผมขอเรียกร้องให้เปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมมาเป็นการป้องกันมิให้คนบาดเจ็บล้มตายแทนวิธีคิดแบบเดิม
          
อย่างที่สี่ ผมถือว่า “ธุรกิจจะก้าวหน้าต้องพัฒนาคนและการจัดการ” ผมเห็นว่าจุดอ่อนของประเทศไทย คือเราขาดคนที่มีคุณภาพ และขาดทักษะทางการจัดการที่มีคุณภาพ เพราะคนไทยเรียนหนังสือ เพียง 4-6 ปี ถึง 81% มี 4% เท่านั้นที่จบปริญญา อีก 15% จบอย่างอื่นหรือไม่มีการศึกษา ในขณะนี้โลกเราเปลี่ยนไปมากแต่ฐานของธุรกิจคือ “คน” และ “ทักษะการจัดการ” ของเราก้าวไม่ทันเพราะคนที่เป็นหัวหน้างานหรือผู้จัดการระดับต้นเลื่อนมาจากคนงานคือ มีความรู้ชั้นประถม เราจำต้องยกระดับการศึกษาของคนเราให้เป็น 9-12 ปี โดยเร็วและยกระดับทักษะการจัดการของหัวหน้างานให้สูงขึ้นโดยเร็ว เช่นกัน
          
อย่างที่ห้า ผมถือว่า “จะพัฒนาคนและการจัดการผู้บริหารคนต้องพัฒนาก่อน” ผมเห็นว่านักบริหารบุคคลเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบริหารงาน บริหารคน บริหารองค์การ การที่จะพัฒนาคนและพัฒนาทักษะการบริหารได้นั้นเราจะต้องมีนักบริหารคนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานโลก ผลงานขององค์การจึงจะสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ปัจจุบันเราขาดแคลนนักบริหารบุคคลที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งจะต้องช่วยกันสร้างขึ้นมาเพิ่มเติมโดยเร็ว

ด้านสังคม
ดร. จำเนียร จวงตระกูล อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องเสมอมาโดยการเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพของคนไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น เป็นวิทยากรฝึกอบรมให้แก่องค์การต่างๆเพื่อยกระดับความสามารถทางการบริหารจัดการของคนไทยให้สูงขึ้น เป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังเขียนบทความเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่องเสมอมา รายละเอียดปรากฏในหนังสือ   HR มือโปร : 40 ปีสู่มืออาชีพ (จำเนียร จวงตระกูล, 2549)